Competency: Unlocking Human Potential and Business Success

ในโลกธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ความสำเร็จของธุรกิจส่วนหนึ่งมาจากองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรของตน Competency Model จึงเป็นกรอบแนวคิดที่ช่วยกำหนด วัดผล และพัฒนาทักษะ ความรู้ รวมถึงพฤติกรรมที่มีความสำคัญต่อความสำเร็จในตำแหน่งงานที่หลากหลาย บทความนี้จะนำไปสู่แนวคิดเรื่องความสามารถ ประโยชน์ที่ธุรกิจจะได้รับ และวิธีที่องค์กรต่างๆ สามารถนำแนวทางที่ให้ความสำคัญกับสมรรถนะไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สมรรถนะ (Competency) คืออะไร?
สมรรถนะ (Competency) คือลักษณะเฉพาะที่สามารถสังเกตได้ในตัวบุคคล ซึ่งประกอบด้วยการผสมผสานระหว่างความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะ (Knowledge, Skills, Attributes หรือ KSAs) ที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานให้ประสบความสำเร็จในงาน ตำแหน่ง และหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย โดย องค์ประกอบหลักเหล่านี้จะมีความสัมพันธ์กับแนวคิดเรื่องสมรรถนะดังต่อไปนี้

ความรู้ (Knowledge): หมายถึงความเข้าใจในเชิงทฤษฎี และข้อมูลข้อเท็จจริงที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่น ผู้จัดการฝ่ายการตลาดอาจจำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมผู้บริโภค หลักการทางการตลาด และวิธีการวิจัยตลาด ความรู้เป็นรากฐานของความสามารถ เพราะเป็นการสร้างความเข้าใจในทฤษฎีที่จำเป็นสำหรับการนำทักษะและคุณลักษณะต่างๆ ไปใช้งาน

ทักษะ (Skill):  ทักษะครอบคลุมถึงความสามารถในการนำความรู้ไปใช้จริง รวมถึงการปฏิบัติงานเฉพาะด้านต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ในตัวอย่างของผู้จัดการฝ่ายการตลาด ทักษะเหล่านี้ได้แก่ การวิเคราะห์ข้อมูล การพัฒนาแคมเปญโฆษณา และการบริหารจัดการงบประมาณ ทักษะจึงเป็นการนำความรู้ไปปฏิบัติจริง เป็นการแสดงให้เห็นว่าบุคคลหนึ่งๆ จะใช้ความรู้ที่มีอยู่ ทำงานต่างๆ ให้เสร็จลุล่วงและบรรลุเป้าหมายได้อย่างไร

คุณลักษณะ (Attributes):  คุณลักษณะ หมายถึงคุณสมบัติ คุณค่าทางใจ และพฤติกรรมพื้นฐานที่ทำให้คนคนหนึ่งทำงานได้สำเร็จ ตัวอย่างได้แก่ บุคลิกลักษณะ เช่น ความคิดสร้างสรรค์ ทักษะการแก้ปัญหา ไปจนถึงจรรยาบรรณในการทำงาน ที่สำคัญ คุณลักษณะยังรวมถึงค่านิยม แรงจูงใจ และทักษะการสื่อสารกับบุคคลอื่น เช่น ความสามารถในการทำงานเป็นทีม หรือภาวะผู้นำ ซึ่งคุณลักษณะส่งผลต่อวิธีที่บุคคลจะทำงานและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น คุณลักษณะพื้นฐานจะทำให้ สามารถนำความรู้และทักษะไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เพราะเหตุใด 'สมรรถนะ' จึงมีความสำคัญ?
Competency Model มีข้อดีมากมายสำหรับองค์กร และยังส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการบุคลากร และยังรวมถึงผลการดำเนินธุรกิจได้ในหลากหลายมิติ อาทิ
 

การวางแนวทางเชิงกลยุทธ์ (Strategic Alignment): สมรรถนะจะช่วยยึดโยงแนวทางการปฏิบัติในการจัดการบุคลากรเข้ากับกลยุทธ์หลักของธุรกิจ การกำหนดชุดความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะ (KSA) ที่จำเป็นต่อความสำเร็จในแต่ละตำแหน่งงาน จะช่วยสร้างความมั่นใจว่า บุคลากรขององค์กรมีความพร้อมในการบรรลุเป้าหมายหลัก ตัวอย่างเช่น บริษัทที่ตั้งเป้าจะเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมดิจิทัล อาจกำหนดความสามารถเฉพาะทางขึ้นมา เช่น ความรู้ด้านดิจิทัล การวิเคราะห์ข้อมูล และความเต็มใจที่จะยอมรับการเปลี่ยนแปลง
 

การคัดสรร พัฒนาบุคลากรคุณภาพ (Improved Talent Decisions): Competency Model ช่วยการตัดสินใจตลอดช่วงของการทำงานของพนักงาน โดยเริ่มตั้งแต่การสรรหาและคัดเลือกบุคลากร Competency Model ช่วยให้เล็งเห็นได้ว่าใครมีความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะ ที่เหมาะสมกับงาน หรือตำแหน่งงานนั้นๆ สำหรับในส่วนของการบริหารผลการปฏิบัติงาน Competency Model จะเป็นกรอบแนวทางที่ชัดเจนสำหรับการกำหนดความคาดหวัง การประเมินผล และการระบุจุดที่ต้องพัฒนา นอกจากนี้ Competency Model นี้ยังช่วยสนับสนุนการตัดสินใจอย่างมีข้อมูลในด้านต่างๆ เช่น การวางแผนสืบทอดตำแหน่ง (succession planning)  และการพัฒนาเส้นทางอาชีพ (career development)
 

ความคาดหวังที่ชัดเจน (Clear Expectations):  สมรรถนะ เป็นการกำหนดมาตรฐานที่โปร่งใสสำหรับการปฏิบัติงาน ทำให้พนักงานมีแผนงานสู่ความสำเร็จที่ชัดเจน ซึ่งส่งผลดีในหลายด้าน ทำให้พนักงานจะเข้าใจว่าตำแหน่งงานของพวกเขาต้องการอะไรบ้าง และการทำงานของพวกเขาจะสอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กรอย่างไร การประเมินผลงานจะมีความเป็นกลางมากขึ้น มุ่งเน้นไปที่การนำความสามารถต่างๆ มาใช้ได้จริง นอกจากนี้ Competency Model ยังช่วยให้พนักงานเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาตนเอง โดยการระบุจุดที่ต้องปรับปรุง และจับคู่สิ่งเหล่านั้นเข้ากับโอกาสในการฝึกอบรม
 

การพัฒนาอย่างมีเป้าหมาย (Targeted Development): การค้นพบช่องว่างในด้านความสามารถทำให้องค์กรสามารถปรับแต่งหลักสูตรการเรียนรู้และพัฒนาทักษะให้เน้นไปที่ส่วนสำคัญที่ต้องปรับปรุง การพัฒนาอย่างมีเป้าหมายเช่นนี้ จะเพิ่มประสิทธิผลให้กับการฝึกอบรม และทำให้มั่นใจว่าพนักงานจะได้เรียนรู้ทักษะและความรู้เฉพาะทางที่พวกเขาต้องใช้เพื่อความเป็นเลิศในแต่ละบทบาท นอกจากนี้ Competency Model ยังมีส่วนช่วยในการพัฒนาโปรแกรมพี่เลี้ยง (Mentor programs) ได้ด้วยการจับคู่พนักงานเข้ากับพี่เลี้ยงที่มีความสามารถสูงในส่วนที่พนักงานคนนั้นๆ ต้องพัฒนา
 

การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดี (Enhanced Culture): วัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญกับ Competency Model จะส่งเสริมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง กระตุ้นการพัฒนาตนเอง และเพิ่มความผูกพันของพนักงานเข้ากับองค์กร เมื่อพนักงานเข้าใจว่าองค์กรให้คุณค่ากับความสามารถในด้านใดบ้าง พวกเขาก็จะยิ่งหาโอกาสพัฒนาในด้านนั้นๆ ส่งผลสนับสนุนให้เกิดแนวคิดเชิงพัฒนา (Growth mindset) ภายในองค์กร ทำให้พนักงานมุ่งมั่นอยู่เสมอในการพัฒนาตนเอง นอกจากนี้วัฒนธรรมที่ใช้ Competency Model ยังให้ความสำคัญกับสิ่งที่แต่ละบุคคลมีส่วนช่วยกับองค์กร รวมถึงบ่มเพาะความรู้สึกการทำงานแบบมีจุดมุ่งหมายให้กับพนักงาน นำไปสู่ความผูกพันและแรงจูงใจระหว่างพนักงานด้วยกันเอง และพนักงานกับองค์กรในระดับที่สูงขึ้นด้วย

ตัวอย่างอย่างง่ายเกี่ยวกับ Competency เพื่อให้เข้าใจและเห็นภาพมากยิ่งขึ้น

ลองนึกถึงตำแหน่ง “ผู้จัดการฝ่ายขาย”

Competency model ในการทำงาน อาจระบุถึงทักษะหลักๆ ได้ดังนี้
 

การสื่อสาร: ความสามารถในการนำเสนอคุณลักษณะและประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้าอย่างชัดเจน
 

การบริหารจัดการความสัมพันธ์กับลูกค้า: การสร้างความไว้วางใจและความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้า
 

การเจรจาต่อรอง: ความเชี่ยวชาญในการบรรลุข้อตกลงที่เป็นประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย
เมื่อเรากำหนด สมรรถนะต่างๆ เหล่านี้ ให้ชัดเจนมากขึ้น รวมถึงมีตัวอย่างพฤติกรรมที่แสดงออกถึงสมรรถนะที่ต้องการ จะทำให้หลักเกณฑ์ในการสรรหา อบรม และประเมินผล ของบุคคลากรในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขาย มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

บทความนี้เป็นเพียงบทเริ่มต้นเกี่ยวกับสมรรถนะ หรือ Competency ซึ่งเป็นการทำความเข้าใจความหมาย ความสำคัญ และบทบาทของ Competency ไม่ว่าจะเป็นบทบาทต่อองค์กร เป้าหมายองค์กร วิธีการทำงานและการปฏิบัติ รวมไปถึงการสรรหา อบรม และประเมินผล และ ยังทราบถึงประโยชน์ต่างๆมากมายของ Competency ต่อองค์กรและพนักงาน หรือเรียกได้ว่า สมรรถนะ Competency คือกุญแจสู่การปลดล็อคศักยภาพของบุคลากร และความสำเร็จทางธุรกิจนั่นเอง

ในบทต่อไป จะเป็นการพูดถึงประเภทของ Competecy ในรูปแบบต่างๆ ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร และการกำหนด Competency นั้นจะทำได้อย่างไร มีกระบวนการขั้นตอนอย่างไรบ้าง

Related Article