การเรียนรู้แบบผสมผสาน Blended Learning คืออะไร

 

การจัดอบรมหรือการเรียนการสอนมักประสบปัญหาด้านความไม่พร้อมของผู้เข้าร่วม จากหลากหลายปัจจัย เช่น อุปสรรคด้านการเดินทาง ข้อจำกัดด้านเวลา หรือระดับความตั้งใจของผู้เรียน การจัดการเรียนรู้ในห้องเรียนเพียงอย่างเดียวจึงอาจไม่ตอบโจทย์อย่างเต็มที่ Blended Learning หรือการเรียนรู้แบบผสมผสาน จึงเข้ามามีบทบาทในการช่วยลดข้อจำกัดเหล่านี้ โดยผสมผสานระหว่างการเรียนแบบพบหน้ากับการเรียนออนไลน์ ทำให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงเนื้อหาได้สะดวกและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

บทความนี้จะพามาทำความรู้จักว่า การเรียนรู้แบบผสมผสาน Blended Learning คืออะไร มีลักษณะอย่างไร อีกทั้งองค์กรหรือหน่วยงานต่าง ๆ สามารถนำแนวทางนี้ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาบุคลากรได้อย่างไรบ้าง

 

การเรียนรู้แบบผสมผสาน หรือ Blended Learning คืออะไร?

Blended Learning คือ วิธีการเรียนรู้ที่ผสมผสานระหว่างการเรียนแบบออนไลน์ (Online) และการเรียนรู้ในห้องเรียนแบบดั้งเดิมเข้าด้วยกัน เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและประสิทธิภาพในการเรียนรู้ ซึ่งปัจจุบันมักนิยมเรียกในชื่อของ Hybrid Learning โดยทั่วไปแล้วจะมีการวางสัดส่วนการเรียนออนไลน์ไว้ประมาณ 30-70% ขึ้นอยู่กับความยาก-ง่ายของเนื้อหา และยังคงมีกิจกรรมภายในห้องเรียน เช่น การทดลอง หรือเวิร์กชอป เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงและทำความเข้าใจองค์ความรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

 

การจัดการเรียนรู้แบบ Blended Learning มีกี่ประเภท?

การเรียนรู้แบบผสมผสาน Blended Learning ที่นิยมนำมาใช้ในปัจจุบัน จะแบ่งออกเป็น 6 ประเภทหลัก ๆ ดังนี้

1. การเรียนแบบเห็นหน้า (Face-to-face Driver Model)

Face-to-face Driver Model คือ การเรียนรู้แบบผสมผสาน (Blended Learning) ที่การเรียนในห้องเรียนแบบเจอหน้ากันเป็นหลัก และเป็นตัวขับเคลื่อนการเรียนรู้ โดยมีการนำองค์ประกอบออนไลน์เข้ามาเสริมเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ เช่น การมอบหมายงานออนไลน์ การใช้สื่อดิจิทัลเสริม หรือการทำแบบทดสอบผ่าน Learning Management System ข้อดีคือผู้เรียนยังคงได้รับปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับผู้สอนและเพื่อนร่วมชั้น ขณะเดียวกันก็ได้ประโยชน์จากความยืดหยุ่นของสื่อออนไลน์

2. การเรียนแบบห้องเรียนกลับด้าน (Flipped Model)

การเรียนแบบห้องเรียนกลับด้าน คือ การที่ผู้เรียนต้องศึกษาเนื้อหาบทเรียนหรือเนื้อหาบรรยายนอกชั้นเรียนด้วยตนเอง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับกิจกรรมในห้องเรียนที่เน้นการอภิปราย หรือการสร้างสถานการณ์จำลองเพื่อฝึกแก้ปัญหา ซึ่งตรงกันข้ามกับการเรียนรู้ในรูปแบบปกติที่มักมีการบรรยายในชั้นเรียน และให้การอภิปรายหรือการทำแบบฝึกหัดเป็นการบ้าน ข้อดีของห้องเรียนกลับด้านคือช่วยให้ผู้เรียนได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นหรือโต้ตอบกับผู้อื่นมากขึ้น แต่ก็มีข้อจำกัดคือผู้เรียนบางคนอาจประสบปัญหาในการศึกษาเนื้อหาด้วยตัวเอง เนื่องจากขาดการชี้นำอย่างใกล้ชิด

3. การเรียนแบบเสมือนจริง (Enriched Virtual Model)

Enriched Virtual Model คือ รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานที่มอบความยืดหยุ่นสูงแก่ผู้เรียน โดยผู้เรียนสามารถเลือกวิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับตนเองได้ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าร่วมชั้นเรียนแบบสดกับผู้สอนตามเวลาที่กำหนด หรือการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านวิดีโอแบบไม่จำกัดเวลา ทำให้ผู้เรียนสามารถออกแบบและตัดสินใจเลือกแนวทางตามเวลาที่สะดวก อย่างไรก็ตาม ผู้เรียนจำเป็นต้องมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนตัวที่พร้อมใช้งานอยู่เสมอ เพื่อให้การเรียนรู้ไม่ขาดตอน

4. การเรียนแบบยืดหยุ่น (Flex Model)

Flex Model เป็นรูปแบบการเรียนรู้แบบผสมผสาน (Blended Learning) ที่มีความยืดหยุ่นสูง เปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถกำหนดเส้นทางการเรียนรู้ของตนเองได้ตามความสนใจหรือความจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นการเลือกหัวข้อการเรียน การเรียนแบบเดี่ยวหรือแบบกลุ่ม

อย่างไรก็ตาม รูปแบบนี้อาจไม่เหมาะกับผู้เรียนบางกลุ่มที่ยังไม่แน่ใจว่าตนเองต้องการพัฒนาทักษะด้านใด จึงอาจประสบปัญหาในการตัดสินใจเลือกเรียนในช่วงเริ่มต้น

5. การเรียนแบบหมุนเวียน (Rotation Medel)

การเรียนการสอนแบบหมุนเวียน (Rotational Model) เป็นรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานที่ผู้สอนจะแบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่มอย่างเหมาะสม จากนั้นให้แต่ละกลุ่ม หมุนเวียนไปยังวิธีการเรียนรู้แบบต่าง ๆ เช่น การเรียนรู้แบบออนไลน์ การเรียนกับผู้สอนโดยตรงในกลุ่มย่อย หรือการทำกิจกรรมกลุ่มด้วยตนเอง ซึ่งข้อดีคือผู้เรียนไม่ต้องวางแผนตารางเวลาหรือเนื้อหาเอง เพราะผู้สอนได้จัดระบบไว้อย่างชัดเจนแล้ว อย่างไรก็ตาม รูปแบบนี้อาจไม่ยืดหยุ่นสำหรับผู้เรียนบางคนที่มีตารางเวลาไม่แน่นอน หรือต้องการควบคุมจังหวะการเรียนรู้ของตนเองได้มากกว่า

6. การเรียนออนไลน์ (Online Driver Model)

Online Driver Model คือ รูปแบบการจัดการเรียนรู้ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นหลัก อาจเป็นการเรียนรู้ด้วยตนเองแบบ 100% บนแพลตฟอร์ม หรือมีการนัดหมายเข้าเรียนผ่านแอปพลิเคชันวิดีโอแชท เช่น Microsoft Teams, Zoom หรือ Google Meet ซึ่งถือเป็นวิธีการเรียนรู้ที่มีอิสระและยืดหยุ่นสูง เนื่องจากสามารถเข้าถึงได้จากทุกที่ทุกเวลา รูปแบบนี้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมากตั้งแต่ช่วงสถานการณ์ COVID-19 ที่ผ่านมา ที่ผู้คนไม่สามารถพบปะกันได้ตามปกติ แม้จะให้อิสระในการเรียนรู้สูง แต่ก็มีข้อจำกัดคือ หากเป็นการเรียนรู้แบบไม่เรียลไทม์ ผู้เรียนอาจไม่สามารถติดต่อหรือสอบถามผู้สอน ณ เวลาที่สงสัยได้ทันที รวมถึงผู้เรียนอาจถูกรบกวนสมาธิได้ง่าย เนื่องจากต้องบริหารจัดการการเรียนรู้ด้วยตนเองเป็นหลัก

 

 

วางแผนการเรียนรู้แบบผสมผสานอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ?

แม้ว่าการเรียนรู้แบบ Blended Learning จะเป็นแนวทางที่สามารถตอบสนองต่อรูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลาย แต่หากใช้โดยไม่สอดคล้องกับลักษณะและความต้องการของผู้เรียน อาจทำให้การฝึกอบรมไม่บรรลุผลตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ ดังนั้น ผู้สอนจึงควรวางแผนในประเด็นต่อไปนี้

  • วิเคราะห์กลุ่มผู้เรียน

ก่อนการเตรียมการสอน ควรเริ่มจากการทำความเข้าใจลักษณะของกลุ่มผู้เรียนว่าแต่ละคนมีรูปแบบการเรียนรู้ที่ถนัดอย่างไร บางคนอาจชอบการเรียนผ่านวิดีโอ บางคนชอบการเรียนรู้แบบมีปฏิสัมพันธ์ ขณะที่บางคนอาจถนัดการอ่าน นอกจากนี้ ควรพิจารณาข้อจำกัดในการเข้าถึงเทคโนโลยีของผู้เรียนแต่ละคนด้วยว่า สามารถใช้งานระบบการเรียนการสอนได้อย่างสะดวกหรือไม่

  • กำหนดวัตถุประสงค์

การกำหนดวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนจะช่วยให้ผู้สอนสามารถวางแผนเนื้อหาให้สอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กร รวมถึงพิจารณาว่าผู้เรียนควรได้รับความรู้หรือทักษะใด เช่น การฝึกใช้เครื่องมือภายในองค์กร การพัฒนา Soft Skills ในการทำงาน หรือทักษะอื่น ๆ ตลอดจนผลลัพธ์ที่คาดหวังจากผู้เรียน เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน การลดข้อผิดพลาด เป็นต้น

  • ออกแบบหลักสูตรที่เหมาะสม

หลังจากกำหนดวัตถุประสงค์การเรียนรู้เรียบร้อยแล้ว ผู้สอนควรออกแบบการเรียนรู้แบบผสมผสาน (Blended Learning) ให้เหมาะสม โดยพิจารณาว่าเนื้อหาประเภทใดเหมาะกับการเรียนการสอนแบบออนไลน์ และเนื้อหาประเภทใดจำเป็นต้องสอนในห้องเรียน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

โดยทั่วไป การเรียนแบบออนไลน์เหมาะกับเนื้อหาที่เป็นทฤษฎีหรือข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งสามารถรับชมซ้ำได้หลายครั้ง ขณะที่การเรียนในห้องเรียนจะเน้นกิจกรรมที่มีปฏิสัมพันธ์ เช่น การอภิปรายกลุ่ม การจัดเวิร์กชอป หรือการทดลอง

  • พัฒนารูปแบบการเรียนการสอน

เมื่อดำเนินการจัดการเรียนการสอนไปได้ระยะหนึ่ง ผู้สอนสามารถพัฒนารูปแบบการสอนให้สอดคล้องกับลักษณะของผู้เรียนมากขึ้น โดยนำระบบ LMS มาใช้ในการจัดเก็บเนื้อหาเพื่อให้สามารถเข้าถึงได้สะดวกในอนาคต นอกจากนี้ ระบบ LMS ยังสามารถปรับเนื้อหาและรูปแบบการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละคนได้ ช่วยส่งเสริมศักยภาพในการเรียนรู้ระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  • ประเมินผล

ในกระบวนการจัดการเรียนรู้แบบ Blended Learning ควรมีการประเมินผลอย่างต่อเนื่อง โดยการสอบถามความคิดเห็นจากทั้งผู้เรียนและผู้สอน เพื่อระบุจุดแข็ง จุดที่ควรปรับปรุง และปัญหาที่พบเจอ จากนั้นจึงนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงเนื้อหา กิจกรรม และวิธีการสอนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รองรับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้เรียนและองค์กร

 

ข้อดีของ Blended Learning

การจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน ด้วยจุดเด่นและข้อดีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น

  • สะดวกสบายและยืดหยุ่น

ผู้เรียนสามารถเข้าถึงเนื้อหาการเรียนการสอนแบบออนไลน์ได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการเดินทาง อีกทั้งยังสามารถเลือกเวลาในการเรียนได้ด้วยตัวเอง ตอบโจทย์ผู้ที่มีเวลาน้อย หรือไม่สามารถกำหนดตารางเวลาที่ตายตัวได้ เช่น ผู้ที่ทำงานประจำ หรือผู้ที่มีภารกิจส่วนตัว

  • ประหยัดเวลาเดินทาง

Blended Learning ช่วยลดภาระในการเดินทางของผู้เรียน โดยเฉพาะผู้ที่พักอาศัยอยู่ไกลจากศูนย์การเรียนรู้ เพราะไม่จำเป็นต้องมาเรียนที่สถานที่จริงทุกวัน ผู้เรียนสามารถเข้าถึงเนื้อหาบางส่วนผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ทุกที่ทุกเวลา ซึ่งช่วยลดจำนวนครั้งที่ต้องเดินทางได้อย่างชัดเจน

  • มีสื่อการเรียนรู้ที่หลากหลาย

การเรียนรู้แบบผสมผสานจะมีสื่อการเรียนรู้หลากหลายรูปแบบ ทั้งแพลตฟอร์มเนื้อหาออนไลน์ที่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนกับวิทยากรแบบออนไลน์ (เช่น คลาสเรียนสดผ่านวิดีโอ) รวมถึงสื่อแบบ Interactive เช่น แบบทดสอบระหว่างเรียน กิจกรรมอภิปรายต่าง ๆ และเกมการเรียนรู้ ที่ช่วยสร้างความน่าสนใจ และช่วยดึงดูดสมาธิของผู้เรียนให้โฟกัสกับเนื้อหาได้ดีขึ้น

  • กระตุ้นการเรียนรู้ด้วยตนเอง

กลยุทธ์ Blended Learning ยังเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ค้นคว้าหาข้อมูลในเรื่องที่สนใจผ่านสื่อออนไลน์และแหล่งเรียนรู้อื่น ๆ นอกห้องเรียน ช่วยส่งเสริมกรอบความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) และทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning Skill) อย่างยั่งยืน

 

การจัดการเรียนรู้แบบผสมผสาน หรือ Blended Learning คือหนึ่งในกลยุทธ์การเรียนที่ช่วยเปิดโอกาสให้กับผู้เรียนที่มีความต้องการที่แตกต่างกันไป เพราะนอกจากจะมีความยืดหยุ่นสูง ผู้สอนยังสามารถปรับแต่งให้เข้ากับผู้เรียนได้ตลอด องค์กรหลายแห่งจึงเลือกลงทุนกับระบบ LMS ที่รองรับการเรียนรู้แบบผสมผสาน สามารถออกแบบระบบการเรียนการสอนได้ง่าย เพื่อให้มั่นใจว่าการอบรมหรือพัฒนาบุคลากรจะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ


FROG GENIUS ในฐานะผู้นำด้านการพัฒนา Educational Solution สู่ความสำเร็จที่ยั่งยืนขององค์กร นำเสนอระบบบริหารจัดการการเรียนรู้ (LMS) รองรับการจัดการการเรียนรู้แบบผสมผสาน (Blended Learning) ทั้งในห้องเรียน (Classroom) และ Learn from Anywhere ด้วยฟีเจอร์ด้านระบบ e-Learning ที่ทันสมัยใช้งานง่าย ตอบโจทย์ทุกการใช้งานขององค์กร

Related Article