3 ทักษะในศตวรรษที่ 21 ที่พนักงานในองค์กรต้องมี

 

ปัจจุบันนี้ ถือเป็นยุคสมัยที่ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามามีบทบาทสำคัญในทุกมิติของชีวิต ไม่เว้นแม้แต่โลกของการทำงาน หลายองค์กรกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายครั้งใหญ่ในการปรับตัวให้เข้ากับแนวทางการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ AI เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดภาระงานบางส่วน แต่สิ่งหนึ่งที่ AI ไม่สามารถแทนที่ได้คือ 'ทักษะของมนุษย์' ที่จำเป็นต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรม การแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน และการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ บทความนี้จะพาคุณไปสำรวจ 3 ทักษะในศตวรรษที่ 21 ที่พนักงานทุกคนในองค์กรต้องมี เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและเติบโตไปพร้อมกับเทคโนโลยีแห่งอนาคต

 

ทักษะในศตวรรษที่ 21 คืออะไร?

ทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 (21st Century Skills) คือ ความรู้ ความสามารถ ที่จำเป็นต่อการประสบความสำเร็จในโลกการทำงานยุคใหม่ โดยทักษะเหล่านี้ไม่ได้จำกัดเพียงแค่ความรู้เชิงเนื้อหา (Content Knowledge) เท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงความสามารถในการคิดวิเคราะห์ การประยุกต์ใช้ความรู้ การแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน การทำงานร่วมกับผู้อื่น และการปรับตัวต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ซึ่งแตกต่างจากทักษะในรูปแบบเดิมที่เน้นการท่องจำหรือการทำงานซ้ำ ๆ

 

ใครเป็นคนกำหนด ทักษะในศตวรรษที่ 21 ?

แนวคิดเรื่อง "ทักษะในศตวรรษที่ 21" ไม่ได้ถูกกำหนดโดยบุคคลใดบุคคลหนึ่งเพียงคนเดียว แต่เป็นการพัฒนาขึ้นจากความร่วมมือขององค์กร สถาบันการศึกษา รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาจากทั่วโลก ที่ตระหนักถึงความจำเป็นในการเตรียมความพร้อม เพื่อให้ผู้คนรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีดิจิทัลได้มากยิ่งขึ้น

โดยองค์กรที่มีบทบาทสำคัญ และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ในการนำเสนอกรอบแนวคิดเรื่องทักษะในศตวรรษที่ 21 คือ Partnership for 21st Century Learning (P21) หรือปัจจุบันคือ Battelle for Kids องค์กรไม่แสวงหากำไรระดับประเทศที่มุ่งช่วยเหลือครูผู้สอน และนักเรียนให้มีทักษะเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต

นอกจากนี้ยังมีองค์กรและหน่วยงานที่มีส่วนร่วมในการศึกษา วิเคราะห์ และนำเสนอแนวคิดต่าง ๆ เกี่ยวกับทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 อีกหลายหน่วยงาน อาทิเช่น World Economic Forum (WEF), OECD (Organisation for Economic Co-operation and Development) และ UNESCO (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization) เป็นต้น

 

 

3 ทักษะในศตวรรษที่ 21 มีอะไรบ้าง?

กรอบแนวคิดเรื่องทักษะในศตวรรษที่ 21 หรือ "Framework for 21st Century Learning" สามารถแบ่งออกเป็น 3 ทักษะหลัก ดังนี้

1. ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม (Learning & Innovation Skills)

รู้จักกันในชื่อ "4Cs" เป็นทักษะในศตวรรษที่ 21 ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับบุคลากร ให้สามารถเรียนรู้ ปรับตัว แก้ปัญหา เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ รวมถึงการทำความเข้าใจและปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น โดยแบ่งเป็น 4 หัวข้อหลัก คือ

  • ความคิดสร้างสรรค์ - Creativity 

ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) คือ ความสามารถในการสร้างผลงานหรือแนวคิดที่โดดเด่น แปลกใหม่ และเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว อาทิ ผลงานเขียน งานภาพ โดยยังสามารถสื่อสารในสิ่งที่ต้องการให้เข้าใจง่าย และไม่มีการลอกเลียนแบบจากแหล่งหรือผลงานอื่น ๆ

  • การคิดอย่างมีวิจารณญาณ - Critical Thinking 

ทักษะที่ช่วยให้เราสามารถวิเคราะห์ข้อมูล หรือสารที่ได้รับอย่างมีวิจารณญาณ และปราศจากอคติ ครอบคลุมตั้งแต่การทำความเข้าใจประเด็นหลัก สรุปปัญหา จนถึงการตัดสินใจอย่างมีเหตุผลจากข้อมูลที่ได้วิเคราะห์มาอย่างถี่ถ้วน

  • การสื่อสาร - Communication 

ทักษะด้านการสื่อสาร (Communication Skills) คือ ทักษะการถ่ายทอดข้อมูลผ่านการพูด การเขียน การนำเสนอ หรือการใช้เครื่องมือต่าง ๆ เพื่อให้ผู้รับสารเข้าใจได้อย่างชัดเจนและถูกต้อง รวมถึงความสามารถในการรับสาร วิเคราะห์ และส่งต่อข้อมูลโดยไม่บิดเบือนหรือเกิดความคลาดเคลื่อน

  • ความร่วมมือ - Collaboration 

ความร่วมมือ (Collaboration) คือ ทักษะสำคัญในการทำงานร่วมกับผู้อื่น ทั้งการทำงานแบบทีม รวมถึงความสามารถในการเข้าอกเข้าใจผู้อื่น ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างสรรค์สังคมการทำงานที่แข็งแกร่งและมีคุณภาพ
 

2. ทักษะด้านข้อมูล สื่อ และเทคโนโลยี (Information, Media, and Technology Skills)

ทักษะซึ่งมุ่งเน้นความสามารถจำเป็นสำหรับการใช้ชีวิต และการทำงานในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพื่อให้บุคคลสามารถเข้าถึง จัดการ ประเมินข้อมูลได้อย่างรอบด้าน รวมถึงมีความรับผิดชอบในการสร้างสรรค์สื่อ โดยประกอบด้วย 3 ทักษะย่อย ดังนี้

  • ความรู้ด้านข้อมูล - Information 

Information Literacy คือ ทักษะในการค้นหา ประเมิน และใช้ข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ได้อย่างชาญฉลาด ช่วยให้สามารถแยกข้อมูลที่น่าเชื่อถือจากข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เข้าใจบริบทของข้อมูล และนำมาใช้ในการตัดสินใจ หรือแก้ปัญหาได้อย่างมีเหตุผลและมีจริยธรรม

  • การรู้เท่าทันสื่อ - Media 

Media Literacy หรือ การรู้เท่าทันสื่อ เป็นทักษะการวิเคราะห์ ประเมินข้อมูลผ่านสื่อประเภทต่าง ๆ  ได้อย่างมีวิจารณญาณ ช่วยให้เข้าใจว่าสื่อที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์อะไร มีอิทธิพลต่อความคิดของเราอย่างไร และสามารถแยกแยะข้อมูลที่น่าเชื่อถือออกจากข่าวปลอมหรือข้อมูลที่บิดเบือน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีความรับผิดชอบ

  • ความรู้ด้านเทคโนโลยี - Technology 

ความสามารถในการใช้เครื่องมือหรือเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างคล่องแคล่ว มีความเข้าใจ แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการใช้งานได้ด้วยตนเอง นอกจากนี้ยังสามารถนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการเรียนรู้ การทำงาน และการสื่อสารได้อย่างตรงจุด

 

3. ทักษะชีวิต (Life Skills) - (FLIPS)

ความสามารถในการปรับตัวและมีพฤติกรรมเชิงบวกที่ช่วยให้แต่ละบุคคลสามารถจัดการกับความท้าทายและความต้องการในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นหนึ่งในทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ที่จำเป็นสำหรับบุคลากรในปัจจุบัน โดยสามารถจำแนกเป็น 5 ทักษะ ดังนี้

  • ความยืดหยุ่น - Flexibility

ความยืดหยุ่น คือ ทักษะในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด หรือมุมมองที่หลากหลาย โดยเฉพาะในการทำงานยุคปัจจุบัน ซึ่งมักต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของนโยบายต่าง ๆ อยู่เสมอ คนที่มีความยืดหยุ่นจะสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลง และทำงานได้อย่างมีคุณภาพในระยะยาว

  • ความคิดริเริ่ม - Initiative

ความคิดริเริ่ม (Initiative) คือ ความสามารถในการเริ่มต้น หรือเสนอแนวคิดใหม่ ๆ ได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องรอคำสั่ง การกระตุ้น หรือการกำกับดูแลจากผู้อื่น ผู้ที่มีความคิดริเริ่มสูงมักจะมองเห็นโอกาส ปัญหา หรือช่องว่างในการทำงาน และพร้อมที่จะลงมือแก้ไขหรือพัฒนาให้ดีขึ้น

  • ทักษะทางสังคม - Social Skills

แม้ว่าบุคลากรจะสามารถทำงานได้ดีขนาดไหน แต่หากไม่สามารถเข้ากับเพื่อนร่วมงานได้ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาตามมา ทักษะทางสังคมหรือ Social Skills จึงเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยให้การทำงานร่วมกับผู้อื่นเป็นไปอย่างราบรื่น ทั้งการสื่อสารด้วยวาจา การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น รวมถึงมารยาททางสังคมและการเข้าสังคม

  • ความมีประสิทธิภาพในการสร้างผลงาน - Productivity

Productivity คือ การวัดระดับของผลลัพธ์หรือผลผลิตที่สามารถสร้างได้ เมื่อเทียบกับทรัพยากรที่ใช้ไป เช่น เวลา แรงงาน เงินทุน หรือวัตถุดิบ ดังนั้น Productivity จึงไม่ใช่เพียงการเพิ่มปริมาณงานเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสร้างผลลัพธ์ที่มีคุณภาพ โดยใช้ทรัพยากรให้น้อยลงหรือมีประสิทธิภาพมากขึ้น

  • ความเป็นผู้นำ - Leadership 

ทักษะความเป็นผู้นำ คือ ความสามารถในการชี้นำ สร้างแรงบันดาลใจ และบริหารจัดการบุคคลหรือทีมให้ทำงานร่วมกัน เพื่อบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ ผ่านการดึงศักยภาพของคนในทีม จัดสรรทรัพยากร วางแผน บริหารจัดการงานอย่างชัดเจน โดยไม่ได้จำกัดอยู่แค่ตำแหน่งหัวหน้าหรือผู้บริหารเท่านั้น

 

ทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 มีความสำคัญต่อการพัฒนาบุคลากรในองค์กรอย่างไร?

ทักษะในศตวรรษที่ 21 หรือ ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาทั้งบุคลากรและองค์กร ในการขับเคลื่อนศักยภาพของบุคลากรในองค์กรให้ถึงขีดสุด ซึ่งทักษะเหล่านี้จะช่วยให้พนักงานสามารถปรับตัว เพื่อรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ พร้อมสำหรับการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่จะช่วยให้องค์กรเติบโตได้อย่างรวดเร็ว

ในโลกธุรกิจที่ AI ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป แต่เป็นพลังขับเคลื่อนซึ่งเข้ามาพลิกโฉมการทำงานอย่างสิ้นเชิง การมีเพียงทักษะเดิม ๆ อาจไม่เพียงพอให้องค์กรอยู่รอดต่อไปได้

 

FROG GENIUS ในฐานะผู้นำด้านการพัฒนา Educational Solution สู่ความสำเร็จขององค์กรอย่างยั่งยืน เราได้พัฒนา Learning Management System (LMS) ที่เป็นมากกว่าแค่ระบบ e-Learning ทั่วไป แต่คือโซลูชันครบวงจรที่ออกแบบมาเพื่อปิดช่องว่างทักษะ (Skill Gap) สร้างเส้นทางการเรียนรู้ส่วนบุคคล (Personalized Learning Paths) ให้พนักงานทุกคนในองค์กร สามารถบริหารจัดการกระบวนการเรียนรู้ได้อย่างไร้รอยต่อ ตั้งแต่การนำเสนอเนื้อหาที่หลากหลาย การติดตามความก้าวหน้าอย่างละเอียด ไปจนถึงการรายงานผลที่แม่นยำสำหรับทั้งผู้เรียนและผู้ดูแลระบบ 

ช่วยยกระดับศักยภาพพนักงาน ให้พร้อมรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ ส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อให้พนักงานปรับตัว พัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมสร้างทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญ และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนนวัตกรรม

Related Article